Knowledge Management Systems in Thai Multinational knowledge-intensive firms: The learner role of knowledge worker


บล็อกนี้อาจจะเป็นบล็อก ที่มีสาระที่สุดก็เป็นไปได้ :D จะมาเล่าเกี่ยวกับ Dissertation ป.โท ของผมเอง ผมเรียน ป.โท คอส MSc Information System Management and Innovation ที่ Warwick Business School โดยตัว Dissertation ที่ทำจะเกี่ยวกับ Knowledge Management System ในองค์กรครับ

kms-research

หัวข้อของ Dissertation คือ Knowledge Management Systems in Thai Multinational knowledge-intensive firms: The learner role of knowledge worker หรือง่ายๆเลยก็เป็นการศึกษาว่า ปัจจัยอะไรบ้าง ที่มีผลให้ผู้ใช้ Knowledge Management System หรือ KMS สามารถที่จะเรียนรู้ ผ่านระบบ KMS ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยหลักการของการเขียน Dissertation แล้ว ก่อนที่เราจะศึกษาเรื่องใดเรื่องนึงได้ เราต้องรู้ก่อนว่าเรื่องที่เรากำลังจะศึกษา มีคนศึกษาไปแล้วรึยัง เพราะถ้าเราไปทำเรื่องเดียวกับคนอื่นแป๊ะๆ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำซ้ำ ขั้นตอนนี้เรียกว่า Literature Review ครับ

Literature Review

Literature Review ของผมก็จะเป็นการ Review Concept ของ Knowledge Management System ทั้งหมด ไล่ตั้งแต่ศึกษาปรัชญาว่า Knowledge หรือ ความรู้นั้นคืออะไร แล้วทำไม เราจะต้องบริหารจัดการความรู้ในองค์กร และ การบริหารจัดการความรู้ในองค์กรสามารถทำได้อย่างไรบ้าง

ความรู้คืออะไร (What is Knowledge)

คำถามง่ายๆ ที่ตอบยากพอสมควร จากการศึกษาปรัชญาเกี่ยวกับทฤษฎีของธรรมชาติและความรู้ (Epistemology) สรุปได้ว่านักปรัชญาแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือฝ่ายที่คิดว่า ความรู้คือสิ่งที่เราครอบครอง (Epistemology of possession) กับฝ่ายที่บอกว่า ความรู้คือสิ่งที่เราปฏิบัติ (Epistemology of practice) ฝ่ายที่บอกว่าความรู้คือสิ่งที่เราครอบครองเชื่อว่าคนเราเมื่อได้รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว ความรู้นั้นก็จะอยู่กับตัวเราไปเหมือนเป็นสมบัติชิ้นหนึ่ง นักปรัชญาฝ่ายนี้ได้สร้างทฤษฎีของ Data -> Information -> Knowledge จนเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง

Knowledge Triangle

อีกฝ่ายหนึ่งคือฝ่ายที่เชื่อกันว่าความรู้คือการปฏิบัติ ฝ่ายนี้อ้างว่าถ้าความรู้คือสิ่งที่เราครอบครองจริง เราต้องสามารถที่จะมอบสิ่งที่เราครอบครองให้คนอื่นได้สิ แต่ความรู้มันไม่ใช่แบบนั้น บางทีความรู้มันก็เป็นอะไรที่มอบให้กันไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ความรู้ในการขี่จักรยาน ถ้าลองๆนึกดูว่าจะสอนคนที่ขี่จักรยานไม่เป็นให้สามารถขี่จักรยานได้ มันไม่ใช่เรื่องง่าย และคนเรามักจะไม่สามารถ อธิบายวิธีการขี่จักรยานเป็นคำพูด หรือตัวอักษรได้ ไม่เชื่อคุณลองคิดดูสิ ว่าถ้าเป็นคุณ คุณจะอธิบายว่าอย่างไร?

แล้วพื้นฐานความคิดเกี่ยวกับความรู้ เกี่ยวอะไรกับ Knowledge Management System?  พื้นฐานตรงนี้มีส่วนค่อนข้างมากในการออกแบบระบบ Knowledge Management System คนที่เชื่อว่าความรู้คือสิ่งที่เราครอบครอง (Epistemology of possession) จะมีแนวคิดในการที่จะทำอย่างไรก็ได้ ให้สามารถนำความรู้ออกจาก สมองคนๆ นึง (Knowledge Extraction) เขียนเป็นคำพูด วีดีโอ หรือสื่ออะไรก็ได้ ที่คนทั่วไปในองกรณ์สามารถทำความเข้าใจความรู้นั้นได้ แล้วนำสื่อนั้นมาใส่ใน Knowledge Management System เพื่อที่จะให้คนอื่นๆ ในองกรณ์สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ ส่วนผู้ที่เชื่อว่า ความรู้คือสิ่งที่เราปฏิบัติ (Epistemology of practice) ก็จะออกแบบ Knowledge Management System ให้เป็นศูนย์กลางที่คนจะมาแลกเปลี่ยนกัน ว่าเคยทำอะไรกันมาบ้าง และหวังว่าการติดต่อสื่อสาร ของคนที่มีความสนใจคล้ายๆ (Community of Practice) กันผ่านระบบ Knowledge Management System จะสามารถช่วยให้ผู้คนที่เข้ามา มองเห็น เข้าใจ และสามารถปฎิบัติ ตามกัน หรือส่งผ่านความรู้ให้แกกันได้นั่นเอง

การจัดการความรู้ภายในองค์กร (Knowledge Management in Organisations)

ในส่วนนี้ เป็นการศึกษาว่าทำไมองค์กรต้องมีการบริหารจัดการความรู้ เราจะเห็นได้ว่างานที่ทำกันในองค์กรยุคใหม่ๆ จะต่างจากสมัยก่อน ย้อนไปตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ในยุคนั้นจะเน้นเรื่องการนำเอางานที่มีความซับซ้อนมากๆ มาแตกเป็นงานย่อยๆ ที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า แล้วแบ่งงานย่อยๆนี้ให้คนทำ จากนั้นจึงนำงานย่อยๆนี้มารวบกันเป็นชิ้นงานใหญ่อีกที ยกตัวอย่างเช่นการประกอบรถยนต์ จะแบ่งออกเป็นสายงานผลิตย่อยๆ เช่น ส่วนนึงผลิตล้อรถยนต์ ส่วนนึงผลิตตัวถัง อีกส่วนนึงผลิตพวงมาลัย จากนั้นค่อยนำส่วนประกอบต่างๆ มาประกอบเป็นรถยนต์อีกที ถ้ามาดูในเรื่องของแรงงาน แรงงานในยุคนี้จะถูกสอนให้เชี่ยวชาญเรื่องที่ตัวเองทำเป็นพิเศษ เช่นถ้าเป็นแรงงานผลิตล้อรถยนต์ ก็จะเชี่ยวชาญการผลิตล้อรถยนต์มาก การที่จะย้ายคนที่ผลิตล้อรถยนต์ไปผลิตพวงมาลัย อาจจะเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะต้องมีการปรับตัวเยอะ เพราะฉะนั้นองค์กรจะพุ่งเป้าไปที่การเลือกคนที่เหมาะกับงาน จากนั้นจึงฝึกคนให้ทำงานนั้นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่ถ้าเรามาดูงานในยุคหลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะเห็นได้ว่างานในยุคหลังนี้ จะเป็นงานที่ใช้แรงงานลดลง และเป็นงานที่ต้องใช้ความคิดมากขึ้น เนื้องานจะไม่ใช่การทำอะไรซ้ำๆ เหมือนในยุคการปฏิวัติอุสาหกรรม แต่จะเป็นงานที่ต้องใช้การคิด วิเคราะห์ ให้เหมาะกับสถานการณ์นั้นๆ ตัวอย่างขององค์กรในยุคหลังๆ ก็เช่น Accenture, BCG, หรือองค์กรที่ทำงานด้าน Consulting ต่างๆ จะเห็นว่าองค์กรพวกนี้จะให้ความสำคัญกับพนักงานค่อนข้างมาก เพราะว่าความสำเร็จขององค์กร ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถของพนักงานเป็นส่วนใหญ่ หากพนักงานพร้อมใจกันออกจากองค์กร องค์กรนั้นๆ อาจจะสูญเสียองค์ความรู้ และไม่สามารถจะดำเนินงานต่อไปได้อีกเลย ด้วยเหตุนี้องค์กรต่างๆจึงนิยมพัฒนาระบบ Knowledge Management ขึ้นมาเพื่อที่จะรักษาความรู้ไว้ภายในองค์กร และลดความพึ่งพาต่อพนักงานลง

ว่ากันมาซะยืดยาว :D Dissertation นี้ต้องการที่จะศึกษาว่าระบบ Knowledge Management แบบไหนเหมาะที่จะนำมาใช้ในองค์กร

ไว้มีพลังแล้วจะมาเล่าต่อละกันนะครับ -.-

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *